บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์
ประธานกรรมการสถาบันวิทยาการสารสนเทศ
วสท. : ขอเริ่มต้นด้วยประวัติการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ และประวัติการทำงาน
ของท่านคร่าวๆ
รศ.ดร. ครรชิต : ผมสำเร็จศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2507 โดยได้ศึกษาในภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ต่อมาผมก็ศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านวิศวกรรมโครงสร้าง ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และในปี พ.ศ. 2510 และศึกษาต่อปริญญาเอกขณะเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ AIT เช่นเดียวกันและจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2520 ก่อนที่จะจบก็ดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าศูนย์คอมพิวเตอร์ของ AIT หลังจากจบปริญญาเอกแล้ว ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์
ต่อมาได้มาอยู่ที่ NECTEC แล้วย้ายมาเป็นผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ TIAC เป็นรองผู้อำนวยการ สวทช. หรือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่กำกับดูแล NECTEC อีกต่อหนึ่ง
พอใกล้เกษียณอายุผมก็ลาออกจาก สวทช. ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มบริษัทไอซีซี อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด มหาชน ปัจจุบันรักษาการนายกสภามหาวิทยาลัยศรีปทุม อุปนายกสภามหาวิทยาลัยนอร์ทเชียงใหม่ กรรมการสภามหาวิทยาลัยเอเชียน และกรรมการสภามหาวิทยาลัยรังสิต งานอื่น ๆ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลก็มี เป็นกรรมการตาม พรบ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ, กรรมการตาม พรบ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ, กรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (คตป.) ซึ่งในคณะกรรมการชุดนี้ ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการกลุ่มจังหวัดตะวันออกเฉียงเหนือ หน้าที่ก็คือการกำกับดูแลการตรวจสอบภายใน การควบคุมภายใน และการปฏิบัติงานตามภาระหน้าที่ที่ให้คำรับรองไว้อีกต่อหนึ่งครับ
ปัจจุบันนี้ผมยังเป็นอาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to CMMI ซึ่งเกี่ยวกับ Process Model ชื่อ Capability Maturity Model Integration ซึ่งผู้ที่จะเป็นอาจารย์สอนวิชานี้อย่างเป็นทางการได้ต้องได้รับอนุญาตจาก สถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ของมหาวิทยาลัย คาร์เนกี เมลลอน ในพิตตสเบิรก สหรัฐอเมริกา CMMI นั้นเป็นต้นแบบการบริหารจัดการการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดีซึ่งขณะนี้บริษัทซอฟต์แวร์ไทยเริ่มสนใจใช้กันมากขึ้น นอกจากเป็นอาจารย์แล้ว ผมยังเป็นผู้ประเมินบริษัทว่าทำงานได้มาตรฐานตามโมเดลนี้หรือไม่ด้วย
วสท. : ดังเป็นที่ทราบกันดี ว่าเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์, การสื่อสาร, ตลอดจนถึงเทคโนโลยีการประยุกต์ใช้งานคอมพิวเตอร์ในวงการธุรกิจอุตสาหกรรม, ได้เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ท่านเห็นว่านักคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย ควรจะมีการเตรียมความพร้อมต่อวิชาชีพคอมพิวเตอร์ทั้งในปัจจุบัน และ อนาคตเช่นไร?
รศ.ดร. ครรชิต : ประเทศไทยนั้นใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์อย่างสิ้นเปลืองมาก ไม่ว่าโลกพัฒนาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อะไรออกมาใช้ คนไทยเป็นต้องหาซื้อมาทดลองทั้งนั้น แต่ไม่ได้ซื้อมาใช้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวนัก เพราะระดับการประยุกต์ไอซีทีของไทยยังค่อนข้างล้าหลังกว่าประเทศอื่น ๆ มีแต่เพียงอุปกรณ์เท่านั้นที่ทันสมัย เมื่อเป็นเช่นนี้นักคอมพิวเตอร์ควรจะระดมความคิดกันและช่วยกันกำหนดสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้สำหรับวงการวิชาชีพคอมพิวเตอร์ไทย:
• จริยธรรมของนักคอมพิวเตอร์ เรื่องนี้เราค่อนข้างจะละเลยมาก มีนักคอมพิวเตอร์หลายคนที่ไม่มีจริยธรรม ไม่ว่าทั้งในด้านการขายหรือการพัฒนาระบบ คือเที่ยวหลอกขายอุปกรณ์และระบบที่ใช้งานไม่ได้แก่หน่วยงานห้างร้านต่างๆ รวมทั้งการที่ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตในการหลอกลวงด้วยประการต่าง ๆ และการโจรกรรมทั้งทรัพย์สินและข้อมูล
• หัวข้อองค์ความรู้พื้นฐานด้านวิชาการที่นักคอมพิวเตอร์จะต้องรู้และมีความสามารถจริง ปัจจุบันนี้คนที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นก็อาจจะอ้างว่าเป็นนักคอมพิวเตอร์ได้ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความรู้พื้นฐานวิชาการเลย เรื่องนี้เป็นอันตรายเพราะหากนักวิชาการโดยตำแหน่งไม่มีความรู้ทางวิชาการจริงแล้ว การพัฒนางานคอมพิวเตอร์ก็จะล้มเหลว
• ทิศทางการพัฒนานักคอมพิวเตอร์ไทยในอนาคต เราจำเป็นจะต้องระดมสมองกันว่าเราต้องการนักคอมพิวเตอร์ด้านใด และด้านนั้นต้องมีความรู้อะไร ปัจจุบันนี้เราปล่อยให้สถาบันการศึกษาเป็นผู้กำหนดและเปิดสอนหลักสูตรและวิชาต่าง ๆ แต่สิ่งที่เปิดสอนนั้นอาจจะไม่ใช่ทิศทางที่เราต้องการก็ได้ นักคอมพิวเตอร์ไทยควรจะรวมตัวกันเรียกร้องให้สถาบันการศึกษาเปิดหลักสูตรที่เราขาดแคลนบุคลากร รวมทั้งจัดหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อให้นักคอมพิวเตอร์ปัจจุบันตามทันยุคสมัยได้
• มาตรฐานวิชาชีพคอมพิวเตอร์ไทย ความจริงแล้ววิชาการคอมพิวเตอร์ยังไม่ได้รับการกำหนดให้เป็นวิชาชีพควบคุม หรือ professional เหมือนวิชาการเช่น วิศวกรรมศาสตร์, แพทย์ศาสตร์, บัญชี, ทนายความ, ผู้ตรวจสอบบัญชี วิชาการที่กล่าวถึงนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของชีวิตและทรัพย์สิน แต่เรายังไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่าวิชาการคอมพิวเตอร์เกี่ยวข้องกับเรื่องทำนองนี้ และอาจจะยังไม่สามารถผลักดันให้วิชาการคอมพิวเตอร์เป็นวิชาชีพควบคุมได้ แต่เราก็ต้องช่วยกันระดมสมองและพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป
• นักคอมพิวเตอร์ไทยควรรวมตัวกันให้เป็นปึกแผ่นมากกว่านี้ จริงอยู่เรามีสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่นักคอมพิวเตอร์ไทยก็ไม่สนใจสมัครเป็นสมาชิก และไม่สามารถสร้างผลงานให้แก่วงการคอมพิวเตอร์ไทยได้
• มาตรฐานการศึกษา นักคอมพิวเตอร์ไทยต้องช่วยกันขจัดสถาบันการศึกษาที่เป็นเหลือบในเมืองไทย ขณะนี้มีสถาบันจำนวนมากที่เปิดสอนวิชาการด้านไอซีทีที่ไม่มีคุณภาพ
วสท. : ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับประสบการณ์ IEEE ในระดับสากลที่ว่า นักคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ ที่จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยแล้วนั้น ยังขาดความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่เพียงพอแก่การประกอบวิชาชีพคอมพิวเตอร์อย่างมีคุณภาพได้
รศ.ดร. ครรชิต : เรื่องนี้ผมเห็นด้วย ผมได้กล่าวมาแล้วว่าสถานศึกษาของไทยหลายแห่งที่ผลิตบัณฑิตที่คุณภาพยังไม่ถึงขั้น จบมาแล้วก็ใช้งานไม่ได้ บัณฑิตที่จบปริญญาตรีคอมพิวเตอร์บางคนเขียนโปรแกรมไม่เป็นด้วยซ้ำ เรื่องนี้ผมเห็นว่ามีประเด็นที่เกี่ยวข้องสองด้านดังนี้
สถาบันการศึกษาทุกวันนี้จำเป็นจะต้องหารายได้จากการเปิดหลักสูตร และหลักสูตรไอซีทีน่าจะเป็นหลักสูตรที่ทำเงินได้ดี เพราะใคร ๆ ก็อยากเรียนสาขานี้ ดังนั้นก็เลยเปิดหลักสูตรทางด้านคอมพิวเตอร์และไอซีทีขึ้นโดยไม่ได้ดูความพร้อมทางด้านเครื่องมือ, อุปกรณ์, และ อาจารย์ ผลก็คือความล้มเหลว
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ตัวหลักสูตรเอง สถาบันการศึกษาส่วนมากมักจะใช้หลักสูตรมาตรฐานเช่น ของ ACM แต่เมื่อนำมากำหนดขึ้นแล้ว ก็ไม่สามารถจะสอนได้ เพราะอาจารย์ไม่ได้มีความรู้พอเพียง หรือตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไม่ทัน เรื่องนี้มีทางแก้ง่าย ๆ คือต้องพยายามกำหนดรายละเอียดของเนื้อหาวิชาให้ชัดเจนมากกว่าหัวข้อที่กำหนดในคำบรรยายรายวิชา (Course description)
วสท. : ได้มีความเพียรพยายามกันมานานกว่าสิบปีในประเทศไทย ที่จะจัดระบบการสอบคัดเลือกวัดระดับความรู้ ความชำนาญ ของนักคอมพิวเตอร์ในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่นักเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์, นักสำรวจข้อมูลคอมพิวเตอร์, นักออกแบบระบบงานคอมพิวเตอร์ฯลฯ ตลอดจนถึงการใช้งานประยุกต์คอมพิวเตอร์อย่างมีประสิทธิภาพ ท่านเห็นว่าหน่วยงานใด น่าจะเป็นผู้รับผิดชอบในด้านนี้โดยตรง?
รศ.ดร. ครรชิต : เรื่องนี้น่าสนใจมาก ผมอยากจะเล่าเรื่องให้ฟังก่อนว่า เมื่อราวสิบปีก่อนนั้นผมยังเป็นรองผู้อำนวยการ NECTEC อยู่ ผมได้ร่วมมือกับหน่วยงานสอบวัดระดับความรู้ด้านไอทีของญี่ปุ่น เพื่อนำข้อสอบของทางญี่ปุ่นทางด้านไอซีทีมาสอบวัดระดับความรู้ของนักไอซีทีไทยบ้าง เราเริ่มต้นด้วยการสอบโดยใช้ข้อสอบภาษาอังกฤษที่หน่วยงานของญี่ปุ่นแปลจากข้อสอบของเขามาให้เรา ปรากฏว่ามีนักไอซีทีสนใจมาสอบเพียงร้อยคนเศษ และสอบได้เพียง 12 คนเท่านั้น นี่ก็แสดงว่านักไอซีทีที่ทำงานอยู่แล้วยังมีระดับความรู้ต่ำเกินมาตรฐานญี่ปุ่น
ปัจจุบันนี้ ผมคิดว่าพวกเรารู้จักการสอบวัดระดับความรู้ด้านไอซีทีกันมากแล้ว แต่ส่วนมากเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือซอฟต์แวร์ของบริษัทเอกชน เช่น ไมโครซอฟต์, ออราเคิล, ซิสโก การสอบวัดระดับความรู้เหล่านี้มีคำตอบให้แก่ปัญหาที่ผมยกขึ้นมาข้างต้น นั่นก็คือ ถ้าสอบได้แล้ว ผู้สอบก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะหางานทำและได้เงินเดือนสูง ๆ ดังนั้นจึงเป็นที่นิยมกัน แม้แต่มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็สนับสนุนให้นักศึกษาของตนสอบ
สำหรับคำถามข้างต้นนั้น ผมขอแยกตอบเป็นสามประเด็นคือ
1. การสอบระดับความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือซอฟต์แวร์ของบริษัทเอกชน ก็ปล่อยให้เขาดำเนินการกันไป เราไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้
2. การสอบความรู้พื้นฐาน ควรจัดสอบโดยสมาคมวิชาชีพ เช่น สมาคมคอมพิวเตอร์ฯ หรือถ้า วสท. จะส่งเสริมวิศวกรคอมพิวเตอร์ ก็อาจจะจัดสอบเองก็ได้
3. การสอบความรู้ด้านการจัดการโครงการ ควรจัดสอบโดย วสท. หรือ สภาวิศวกร หรือ สภาไอซีที
วสท. : ในฐานะที่ท่านเป็นสมาชิก วสท. ท่านคิดว่าสมาคมวิชาชีพ เช่น วสท. ควรจะมีบทบาทที่สำคัญอย่างไร ต่อวิศวกรคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย? ที่มีจำนวนประมาณ 35,000 คน ในปัจจุบัน
รศ.ดร. ครรชิต : เริ่มแรกสุด ผมคิดว่า วสท. จะต้องนิยามขอบเขตวิชาชีพด้านคอมพิวเตอร์ หรือ ไอซีที ให้ชัดเจน เพราะปัจจุบันนี้ยังสับสนกันอยู่มาก
ประการต่อมา วสท. จะต้องเป็นผู้ผลักดันและดูแลมาตรฐานด้านไอซีที ผมขอยกตัวอย่างว่า วิศวกรรมโยธา ไฟฟ้า และ เครื่องกล นั้น พอเขียนแบบออกมาแล้ว วิศวกรทุกคนไม่ว่าจะจบจากสถาบันใดก็อ่านเข้าใจตรงกันหมด เพราะต่างก็ใช้ไดอะแกรมที่เป็นมาตรฐานเหมือนกัน แต่ทางด้านคอมพิวเตอร์นั้น ถึงแม้จะมีมาตรฐานไดอะแกรม ISO กำหนดอยู่ แต่กลับไม่มีใครใช้ เพราะขาดการผลักดัน ความจริงแล้วมาตรฐานด้านไอซีทีนั้นอาจจะมีอยู่ราวสามร้อยมาตรฐาน ขณะนี้ทาง สมอ. ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลมาตรฐานตามกฏหมาย ได้นำมาตรฐานที่จำเป็นมารับรองเพียงไม่กี่สิบมาตรฐานเท่านั้น ขณะนี้มีมาตรฐานสำคัญที่น่าใช้อีกมาก แต่ยังไม่มีใครผลักดัน ดังนั้น วสท. ควรจะเร่งรีบดำเนินการด้านนี้
ประการที่สาม วสท. ควรเร่งรีบกำหนดเนื้อหาหลักสูตรไอซีทีที่มีคุณภาพ โดยระดมนักวิชาการและอาจารย์จากภาครัฐและภาคเอกชนมากำหนดขึ้น และกำหนดให้มีวิธีการตรวจรับรองหลักสูตรของสถาบันต่าง ๆ (Accredit)
ประการที่สี่ ให้ วสท. สำรวจอัตราเงินเดือนของนักวิชาชีพด้านคอมพิวเตอร์รวมทั้งวิศวกรคอมพิวเตอร์ เพื่อกำหนดอัตราเงินเดือนมาตรฐานให้เป็นที่รู้กัน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เงินเดือนเฟ้อมากเกินความจำเป็น เนื่องจากขณะนี้บริษัทหลายแห่งที่ไม่ทราบอัตราเงินเดือนที่เหมาะสม ต่างก็พยายามตั้งเงินเดือนสูง ๆ เพื่อแย่งตัวนักไอซีที แต่เมื่อได้มาทำงานแล้วกลับทำงานได้ไม่คุ้มกับเงินเดือน ทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจด้วย
ประการที่ห้า วสท. อาจจะจัดสอบวัดระดับความรู้พื้นฐานของวิศวกรคอมพิวเตอร์ก็ได้
วสท. : ท่านคิดว่า ในปัจจุบัน วิศวกรคอมพิวเตอร์ ในประเทศไทย จะสามารถและมีโอกาสแสดงบทบาทด้านเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทย (Countrywide competitiveness) ได้อย่างไรบ้างหรือไม่?
รศ.ดร. ครรชิต : ผมเชื่อว่าวิศวกรคอมพิวเตอร์ไทยจำนวนมากมีความสามารถสูง แต่การจะพัฒนาธุรกิจไอซีทีให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันทางด้านไอซีทีสูงเหนือประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคแถบนี้นั้นยังจะต้องใช้เวลาอีกมาก ทุกวันนี้วงการคอมพิวเตอร์ของไทยประสบปัญหาและอุปสรรคสำคัญหลายด้านคือ
• ขาดอุปสงค์สำหรับสินค้าไอซีทีไทย เช่นซอฟต์แวร์ไทยนั้นไม่เป็นที่นิยม หน่วยงานและบริษัทห้างร้านนิยมซื้อสินค้าต่างประเทศมากกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้โอกาสในการพัฒนาสินค้าไอซีทีของเราจึงมีน้อย
• สินค้าไอซีทีของเรายังด้อยคุณภาพ ประเด็นนี้ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หน่วยงานไม่อยากซื้อสินค้าไอซีทีของไทยก็ได้ แต่เรื่องนี้เราสามารถแก้ไขได้โดยการจัดฝึกอบรมให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ
• เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และยังมีหลายแพลตฟอร์ม การผลิตสินค้าไอซีทีสำหรับแพลตฟอร์มเดียวก็จะมีตลาดแคบ ส่วนการที่จะผลิตให้สามารถใช้ได้หลายแพลตฟอร์มก็ต้องลงทุนมาก และอาจจะไม่มีความสามารถเพียงพอ เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ก็ต้องเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์อีก ซึ่งล้วนต้องใช้คนที่มีความรู้และมีค่าใช้จ่ายสูง
• สำหรับผลิตภัณฑ์ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์นั้น เราขาดอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น การออกแบบชิป, การผลิตชิป, การผลิตวงจรขนาดเล็ก, ฯลฯ การที่ไทยเราสามารถก้าวสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ได้นั้น ที่สำคัญคือเรามีอุตสาหกรรมต้นน้ำที่เกี่ยวข้องมานานแล้ว เช่น โรงกลึง โรงหล่อ ฯลฯ แต่ทางด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เราไม่มี อย่างเช่น การทำพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ก็ต้องไปจ้างทำจากไต้หวัน ทำเองไม่ได้
• การที่ไม่มีอุตสาหกรรมต้นน้ำทางด้านนี้อาจจะเป็นเพราะคนไทยไม่มีความรู้พิ้นฐานด้านอิเล็กทรอนิกส์มากนัก เรารู้แต่วิธีประกอบ และวิธีใช้ ซึ่งไม่สามารถจะเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศได้
• ระบบจัดซื้อของราชการไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดซื้อฮาร์ดแวร์ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว และ ต่อการจัดซื้อบริการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์เพราะหน่วยงานราชการเองก็ไม่เข้าใจความต้องการของตนเอง เมื่อว่าจ้างบริษัทมาพัฒนาซอฟต์แวร์แล้วก็เพิ่มเติมข้อกำหนดความต้องการขึ้นไปไม่รู้จบ ส่วนฮาร์ดแวร์นั้นมีมากที่กำหนดรายละเอียดแล้วจัดหาให้ไม่ได้เพราะบริษัทผู้ผลิตได้เลิกผลิตไปแล้ว แต่หน่วยงานก็ไม่ยอม เมื่อเป็นเช่นนี้การทำธุรกิจด้านไอซีทีจึงมีความเสี่ยงสูงมาก
• ปัญหาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาก็เป็นเรื่องสำคัญ บริษัทซอฟต์แวร์ต่างประเทศมักจะรายงานว่าประเทศไทยมีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มาก ผมเองมองว่าซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดนั้นมีอยู่มากจริง แต่จำนวนมากไม่ได้ใช้ในการทำธุรกิจ แต่ใช้ในงานส่วนตัว อย่างไรก็ตาม เรายังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนของการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่เป็นผลงานสำรวจของสถาบันไทย มีแต่ตัวเลขของทางผู้ค้า ดังนั้นเราควรศึกษาพฤติกรรมการละเมิดให้เข้าใจด้วย
• ปัญหาประเด็นสุดท้ายที่ทำให้การทำธุรกิจของไอซีทีมีปัญหาก็คือ ความฉ้อฉลของพ่อค้าบางรายซึ่งหลอกขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและใช้งานไม่ได้ ส่งผลให้เกิดความระแวงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
วสท. : ท่านคิดว่า กิจกรรมให้บริการสมาชิกวิศวกรที่ วสท. ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน เพียงพอแก่การพัฒนาความเป็นมืออาชีพให้แก่วิศวกรคอมพิวเตอร์ไทยดีแล้วหรือไม่? มีกิจกรรมใดบ้างที่ท่านเห็นว่า วสท. ควรเร่งปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน?
รศ.ดร. ครรชิต : วสท. เองเพิ่งจะขยายความสนใจมาถึงวิศวกรคอมพิวเตอร์เมื่อไม่นานมานี้เอง ดังนั้นผมจึงคิดว่าบริการของวสท. ที่มีให้แก่วิศวกรคอมพิวเตอร์ที่เป็นสมาชิกยังคงน้อยกว่าวิศวกรสาขาอื่น ในด้านกิจกรรมนั้นผมเห็นว่าการฝึกอบรมและการประชุมวิชาการที่ วสท. จัดขึ้นนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสมาชิก วสท. ดังนั้นควรริเริ่มจัดการฝึกอบรมทางด้านไอซีทีให้แก่สมาชิกที่เป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น วสท. ยังอาจจัดการประชุมวิชาการด้านไอซีที โดยเน้นเนื้อหาที่ทางสถาบันการศึกษายังสนใจกันน้อย เช่น กฎหมายไอซีที, จริยธรรมไอซีที, ทรัพย์สินทางปัญญา, ความเป็นผู้บริหารมืออาชีพทางด้านไอซีที ฯลฯ